เรียกได้ว่าเป็นคดีที่สะเทือนใจมากๆ และเป็นที่สนใจของสังคมอย่างมาก สำหรับพฤติการณ์ ของ นางสรารัตน์ นั้น ตามบรรยายพฤติการณ์ ที่พนักงานสอบสวน ระบุว่า ก่อนเกิดเหตุนางสรารัตน์
หรือ แอม ผู้ต้องหาออกอุบายนัดหมายให้ น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือ ก้อย ผู้เสียชีวิตไปพบที่หมู่บ้าน เพื่อจะพาผู้ไปปลิดชีพแล้วเอาทรัพย์สิน โดยเกี่ยวข้องกับยาไซยาไนด์
ล่าสุด วันที่ 30 มิถุนายน ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.เป็นประธาน พร้อม พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผบช.สพฐ.ตร.,พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภ.7,พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป.,พล.ต.ต.กำธร อุ่ยเจริญ ผบก.สพฐ.ภ.7,พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป.,พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย รอง ผบก.สส.ภ.4
และ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมแถลงคดีนางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ไซยาไนด์ ผู้ต้องหาวางยาฆ่าเจ้าหนี้ 15 คดี ในพื้นที่ 8 จังหวัด โดยคดีแรกเกิดในปี 2558 ต่อเนื่องปี 2566 มีผู้เสียชีวิต 14 ราย รอดชีวิต 1 ราย
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมด มีความเกี่ยวพันกับ แอม ไซยาไนด์ ในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้ นายหน้าขายรถมือสอง และลูกวงแชร์ ซึ่งพนักงานสอบสวนชุดคลี่คลายคดีประกอบด้วยตำรวจสอบสวนกลาง โดยกองบังคับการปราบปราม ตำรวจภูธรภาค 7 ตำรวจพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมพยานหลักฐานจากพื้นที่เกิดเหตุเป็นภาพจากกล้องวงจรปิด สอบปากคำแพทย์ผู้ชันสูตร ซึ่งสถาบันนิติเวชวิทยาได้ตรวจสอบเลือดและสารคัดหลั่งในกระเพาะจากศพเหยื่อรายสุดท้ายที่ จ.ราชบุรี พบสารไซยาไนด์ในเนื้อตับของผู้ตาย รวมพยานอื่นๆ
ทั้งหมดกว่า 900 ปาก มีเอกสารเกี่ยวกับคดีถึง 26,500 แผ่น ใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานมากกว่า 3 เดือน ถือเป็นคดีที่ระดมชุดสืบสวนสอบสวนมากที่สุดในประเทศไทยจนสามารถสรุปสำนวนดำเนินคดีนางสรารัตน์ รวม 15 คดี ประกอบด้วย ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น,ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ,ชิงทรัพย์โดยเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปลอมปนอาหาร ยา หรือเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้,การปลอมปนนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปลอม และใช้เอกสารปลอม รวมกว่า 75 ข้อหา